EP5 แสง loop light แสงที่สามารถใช้ได้กับหลากหลายลักษณะใบหน้า (Loop lighting in studio photography)

Loop light เป็นแสงที่สามารถใช้ได้หลากหลายที่สุด แต่ในบางครั้งก็มีข้อจำกัดในการใช้เช่นเดียวกัน ลักษณะแสง Loop light เป็นแสงที่วางอยู่ในตำแหน่งเยื้องมาทางด้านหน้าของแบบในมุมประมาณ30-45องศา ให้สูงขึ้นประมาณ เหนือศรีษะเล็กน้อย แสงแบบนี้จะทำให้เกิดเงาที่อีกด้านของแก้ม แสงลักษณะนี้สามารถคุมเรื่องของ shadow และ midtone ได้ง่าย เหมาะกับการถ่ายแบบเกือบทุกประเภท ยกเว้นการถ่ายแบบที่มีลักษณะท้วม การใช้แสงลักษณะนี้จะทำให้แบบดูตัวใหญ่ขึ้นไปอีก นักถ่ายภาพบางท่านอาจจะสับสนระหว่างการวางตำแหน่งแสงแบบ loop light กับ Rembrandt light ว่ามีความต่างกันอย่างไร เพราะวางในมุมที่ใกล้เคียงกันมาก ซึ่งจะเขียนจะใน ep ต่อๆไปครับ แสงลักษณะนี้เหมาะกับงานถ่ายเต็มตัว ถ่าย head shot, haft body ก็ได้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับการเลือกใช้ให้เหมาะสมกับตัวแบบ และสถานการณ์ โดยแหล่งกำเนิดแสงเป็นสิ่งสำคัญ หากใช้แสงลักษณะนี้มักใช้ร่วมกับอุปกรณ์กระจายแสง (Diffuser) เช่น soft box เป็นต้น หากให้ยกตัวอย่างให้เข้าใจง่ายขึ้นไปอีก คิดว่าทุกคนเคยถ่ายรูปติดบัตร เป็นการวางไฟในลักษณะ loop lighting เพียงแต่ในสตูดิโอถ่ายรูปติดบัตรนั้น มีจุดประสงค์ต้องการให้เห็นชัดเจนทั่วทั้งใบหน้า ไม่ต้องการให้เกิดเงา ดังนั้นจึงมีการวางไฟในลักษณะมุมเดียวกันทั้ง2ด้าน และปรับกำลังไฟที่เกือบจะเท่ากัน ภาพที่ได้จะออกมาใสเคลียร์ ไม่มีแสงเงาเกิดขึ้นที่ด้านใดด้านหนึ่ง ตรงตามวัตถุประสงค์ของผลลัพภ์ที่ต้องการให้ออกมา สรุปการจัดแสง loop lighting เลือกให้เหมาะกับแบบ ธีมการถ่ายงาน และสถานการณ์ ณ ตอนนั้นว่าควรเลือกใช้แสงแบบใด ไม่ได้ตายตัวว่าจะไม่สามารถถ่ายคนท้วมได้ ขึ้นอยู่กับธีมของงานด้วยว่าจะเลือกใช้แสงแบบใด

EP4 แสงแข็งกับการถ่ายภาพในสตูดิโอ (Hard light in studio photography)

แสงแข็ง (Hard light) ในการถ่ายภาพในสตูดิโอ ช่วยสร้างสรรค์ภาพให้มีอารมณ์อย่างไม่น่าเชื่อ หลีกเลี่ยงการใช้แสงแข็งในการถ่ายภาพบุคคลในสตูดิโอ อาจไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องเสมอไป Plute Moungplub ในบทความที่แล้ว พูดถึงเรื่องแสงนุ่ม (Soft light) ครั้งนี้จะเป็นแสงตรงกันข้าม นั่นคือ แสงแข็ง (Hard light) นักถ่ายภาพทุกคนทราบดีว่าแสงแข็ง เป็นแสงที่สร้างความต่างอย่างชัดเจนในส่วนของ Mid tone หรือส่วนที่อยู่ตรงกลางระหว่าง เงา (Shadow) กับ ส่วนสว่าง (Hight light) หากใช้ไม่ถูกต้องภาพจะดูแข็งกระด้าง ไม่สวยงาม เปรียบเสมือนการถ่ายภาพกลางแจ้งในตอนกลางวันแสกๆที่แสงอาทิตย์แรงมาก และส่องมาที่วัตถุ การประยุกต์ใช้แสงแข็งในสตูดิโอนั้น ทำได้ไม่ยาก ง่ายๆเลยคือการที่ไม่ต้องใส่ตัวกระจายแสงอย่าง diffuser เช่น softbox ก็เพียงพอที่จะทำให้แสงนั้นแข็งได้พอสมควรแล้ว ยังมีอุปกรณ์อีกหลายรูปแบบที่ใช้ในการควบคุมแสงในสตูดิโอ เช่นsnooze, honey comp เพื่อบีบแสง ให้ลงตามจุดที่ต้องการซึ่งแสงที่ได้จะเป็นแสงที่ค่อนข้างแข็ง สร้างลักษณะเด่นเฉพาะจุดให้กับภาพถ่าย ในบางครั้งแสงแข็งในสตูดิโอ สามารถสรา้งสรรค์ภาพได้เหมือนแสงอาทิตย์ที่ลอดเข้ามา เสมือนการจำลองถ่ายภาพภายในอาคาร ที่มีแสงอาทิตย์ลอดเข้าเป็นต้น ทั้งหมดขึ้นอยู่กับว่าเราจะมีความคิดสร้างสรรค์ภาพออกมาในตอนแรกอย่างไร นักถ่ายภาพในสตูดิโอคงรู้จักอุปกรณ์กระจายแสงที่เรียกว่า Beauty dish กันเป็นอย่างดี และใช้กันอย่างแพร่หลายเมื่อถ่ายภาพ head shot หรือถ่ายภาพต่ำกว่าหัวไหล่นิดหน่อย อุปกรณ์ชนิดนี้สามารถกระจายแสงได้กว้าง และมีลักษณะแสงที่เป็นเอกลักษณ์มากกว่าการถ่ายภาพด้วย soft box แต่อย่างไรก็ตามการใช้งานอุปกรณ์ชนิดนี้ได้ จะต้องมีความเข้าใจในเรื่องของ shadow, Hight light, mid tone อย่างดีเสียก่อน ไม่อย่างนั้นอาจจะคุมเรื่องของแสงเงาได้ยาก เพราะแสงจะมีลักษณะการกระจายตัวไปทั่ว ภาพจะดู เรียบเป็นระนาบเดียวกัน ซึ่งต่างกับ soft box ที่จะมีการบีบแสงที่มากกว่า จนทำให้เกิดส่วนของ shadow ขึ้นมาเองได้ โดยไม่ต้องมีความเข้าใจในสามเรื่องดังกล่าวมาก สุดท้ายเมื่อมีจินตนาการในการออกแบบแสงแล้ว ทุกท่านสามารถเลือกใช้แสงนุ่ม (Soft light) หรือ แสงแข็ง (Hard light) ได้ตามจินตาการ ควบคุมแสง และรู้จักใช้อุปกรณ์ในสตูดิโอ เท่านี้ก็สามารถครีเอทภาพออกมาได้ตามความต้องการแล้วครับ ที่เหลือคือการจัดองค์ประกอบภาพ กับการโพสของนางแบบ ซึ่งมีหลักการอีกมาก ที่จะค่อยๆเขียนในEPต่อๆไปครับ

EP3 พื้นฐานแสงนุ่มในการถ่ายภาพในสตูดิโอ (Basic Soft light in studio photography)

แสงนุ่ม (Soft light) เป็นแสงกระจาย (Diffuse) คุมโทนระหว่าง ส่วนเงา (Shadow) กับส่วน สว่าง (Hight light) เห็นรายละเอียดของวัตถุ เสมือนการถ่ายภาพในวันที่มีเมฆครึ้ม Plute Moungplub แสงนุ่ม เป็นแสงที่ถ่ายภาพให้ออกมาดูดีได้ง่าย เพราะมีแสงกระจายทั่ววัตถุ ภาพจะออกแนวไปทางโทนสว่าง นักถ่ายภาพทั่วไปมักถ่ายภาพแนวนี้กันได้ดี ทั้งในกลางแจ้ง หรือในสตูดิโอ โดยการจัดไฟในสตูดิโอเพื่อให้เกิด soft light นั้นไม่ยาก โดยใช้หลักการ Invert square law (ลองหาข้อมูลที่มีมากมายใน internet ดูครับ) เข้ามาเป็นหลักในการคิดก็ได้ คือยิ่งแหล่งกำเนิดแสงตั้งไกลวัตถุเท่าไหร่ แสงที่ตกที่ตัววัตถุ ก็ยิ่งมีความนิ่มนวลมากขึ้นเท่านั้น เห็นได้จากดวงอาทิตย์ในวันที่มีเมฆมาก เมฆเป็นตัวทำหน้าที่กรองแสง ให้แสงอาทิตย์นั้นกระจายตัวออก ทำให้แสงนุ่ม อีกอย่างคือ ตัวกำเนิดแสง ยิ่งตัวกำเนิดแสง มีขนาดใหญ่มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้แสงออกมานุ่มเท่านั้น จึงเป็นที่มาว่าเพราะอะไร ในสตูดิโอใหญ่ มักใช้ soft box ที่มีขนาดใหญ่ในการถ่ายภาพบุคคล เพื่อให้เกิดแสงนุ่มนั่นเอง หรือบางครั้งอาจจะใช้ diffuser ที่มีขนาดใหญ่ยิงแสงเฟลชเข้าที่ตัวแบบโดยตรงได้เช่นเดียวกัน หากเราถ่ายภาพในเวลากลางวันที่แดดจัดกลางแจ้ง สามารถทำให้แสงนุ่มได้โดยการใช้ผ้าขาวบางที่หาได้ทั่วไป กางตึงอยู่เหนือวัตถุ แค่นี้เป็นใช้ได้ หรือในสตูดิโอ ก็ใช้ soft box หรือการใช้เฟลชยิงสะท้อน reflector เพื่อให้แสงที่สะท้อนกลับมาที่ตัวแบบนุ่มได้เช่นเดียวกัน อย่างที่เขียนไปในบทความก่อนหน้านี้ว่า การจัดแสงนั้นมีพื้นฐานของแต่ละแบบอยู่ เราค่อยๆฝึกเรียนรู้จากการเริ่มทำแบบพื้นฐานไปก่อน แล้วค่อยประยุกต์ใช้ในรูปแบบต่างๆ เมื่อเราคล่องขึ้น และเข้าใจในหลักของ “ธรรมชาติ” ของแสงแล้ว คราวนี้เราก็จะสามารถเปลี่ยนรูปแบบของแสงได้ตามความต้องการของเราแล้วครับ

EP2 ควบคุมแสงไฟในสตูดิโอ (Control the lighting in studio photography)

อะไร? ที่ทำให้ภาพสวย นอกเหนือจากเรื่องสีสันในภาพถ่าย? Plute Moungplub นักถ่ายภาพ หรือผู้ที่ชื่นชอบการถ่ายภาพควรตั้งคำถามทุกครั้งเมื่อเจอภาพถ่ายที่ถูกใจ หรือคิดว่าสวย ภาพถ่ายนั้นสวยงามที่ตรงไหน? นอกเหนือจากเรื่องสีสัน มุมมอง องค์ประกอบของภาพ…ใช่แล้วครับ “แสง” (Lighting) นั่นเอง แน่นอนว่าทุกองค์ประกอบล้วนมีส่วนสำคัญเพื่อให้ภาพถ่ายนั้นออกมาสมบูรณ์แบบ แต่ในความคิดของผมแล้ว แม้ภาพถ่ายธรรมดาหากแสงที่ดี ก็สามารถทำให้ภาพนั้นดูโดนเด่นขึ้นมาได้ คำถามคือ แล้วเราจะควบคุมแสงได้อย่างไร? ไม่จำกัดเฉพาะในการถ่ายภาพในสตูดิโอเท่านั้น การถ่ายภาพกลางแจ้ง เราก็สามารถควบคุมแสงให้เป็นไปตามที่เราต้องการได้ ถึงแม้จะไม่ทั้งหมดก็ตาม เช่นทำให้แสงอ่อนนุ่มลง (Soft light) หรือบีบให้แสงลงมาเฉพาะจุดที่ต้องการ โดยใช้อุปกรณ์เข้าช่วยบังแสงเป็นต้น ในสตูดิโอ เราสามารถควบคุมแสงได้ 100% ครับ เพราะสตูดิโอ คือห้องที่เป็นห้องปิด ไม่ควรจะมีแสงอื่นใดเข้ามารบกวน เราสามารถทดสอบได้ด้วยวิธีการถ่ายรูปโดยใช้รูรับแสง (F stop) ที่เราคาดว่าจะใช้ในการถ่ายงานในครั้งนั้น เช่น f8 แล้วลองถ่ายโดยไม่เปิดแสงใดๆดูว่า ภาพออกมามืดสนิทหรือไม่ หากภาพเป็นสีดำมืดสนิท ก็ใช้ได้ ถึงแม้ในสภาพแวดล้อมจริงจะมีแสงอยู่บ้างก็ตาม เพราะกล้องไม่ได้เห็นอย่างที่ตาเราเห็น โดยตาของเรานั้นมีขอบเขตการรับแสงได้มากกว่ากล้อง แหล่งกำเนิดแสงในสตูดิโอ หลักๆมาจากแสงไฟเฟลชสตูดิโอ โดยการควบคุมแสงไฟในสตูดิโอนั้นไม่ยาก เพราะว่ามีหลักการเบื้องต้น ที่ทุกคนสามารถเรียนรู้ และนำไปฝึกเองได้ ก่อนที่จะมีการประยุกต์ใช้ และจัดแสงได้ซับซ้อนมากขึ้น ทำให้ภาพดูแปลกใหม่ ทั้งๆที่มุมมองธรรมดาๆ แต่แสงทำให้ภาพที่ออกมานั้นดูดีได้อย่างไม่น่าเชื่อ โดยจะอธิบายโดยละเอียด เกี่ยวกับการจัดแสงพื้นฐานของแต่ละประเภทในสตูดิโอในตอนถัดไปแบบแบ่งที่ละตอนเพื่อจะได้ค่อยๆเรียนรู้ และนำไปใช้ได้จริง พื้นฐานของการจัดแสงในสตูดิโอนั้น เปรียบเสมือนbasicของสิ่งต่างๆ ที่แม้มืออาชีพก็นำไปใช้เป็นหลัก อย่างกีฬาทุกประเภท แม้นักกีฬามืออาชีพ ก็ใช้เบสิคในการแข่งขั้นทั้งสิ้น ที่เหลือคือ เรื่องของความสามารถส่วนตัว และความคิดสร้างสรรค์ในเกมที่จะทำให้ผลลัพภ์นั้นออกมาแตกต่างได้ พื้นฐานแสงในสตูดิโอนั้นมีดังนี้ Loop lighting Rembrandt lighting Split lighting Butterfly lighting Clamshell lighting โดยแสงทั้ง 5 แบบ มีพื้นฐานมาจากแสงนุ่ม (Soft light), แสงแข็ง (Hard light), แสงโทนมืด (Low key), แสงโทนสว่าง (High key), แสงโทนกว้าง …

EP1 การถ่ายภาพสตูดิโอ ต่างกับการถ่ายภาพด้วยแสงธรรมชาติอย่างไร? (What different between Studio photography and out door photography)

ช่างภาพทุกคนทราบกันดีอยู่แล้วว่า ภาพจะเกิดขึ้นได้ จำเป็นต้องมีแสง ไม่ว่าจะเป็นแสงอะไรก็ตาม แสงอาทิตย์ แสงเทียน แสงไฟต่างๆ รวมถึงแสงจากแฟลชในการถ่ายภาพ เพราะฉะนั้น เราสามารถแบ่งแสงได้ออกเป็น2ประเภทใหญ่ๆเลยก็คือ แสงธรรมชาติ กับแสงที่เกิดจากการทำขึ้นของมนุษย์ แสงที่มาจากธรรมชาตินั้นบอกอยู่แล้วว่าเป็นแสงที่เกิดขึ้นเอง โดยไม่มีใครไปควมคุมมัน อาจเป็แสงอ่อน (Soft light) แสงแข็ง (Hard light) อุณภูมิของแสง (Light temperature) นักถ่ายภาพสามารถควบคุมแสงเหล่านี้ได้ในระดับหนึ่ง เช่นให้แสงผ่านมาได้ขนาดไหนในการถ่ายภาพ หรือกรองแสงจากแสงแข็งเป็นแสงนุ่ม หรือการเลือกช่วงเวลาในการถ่ายภาพ เพื่อให้แสงออกมาตามต้องการเป็นต้น จะเห็นได้ว่า หากวันที่ฝนตก หากต้องการถ่ายภาพที่ต้องการใช้แสงแข็ง (Hard light) ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะเราไม่สามารถควบคุมแสงที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติได้นั่นเอง ก่อนที่จะมีการประดิษฐ์แสงที่เกิดขึ้นจากแฟลช ถ่ายรูป เราจำเป็นต้องเลือกช่วงเวลา เพื่อให้ได้แสงตามที่ต้องการ แต่เมื่อมีการทำเฟลชสำหรับการถ่ายรูปเพิ่มเข้ามา ทำให้เราสามารถถ่ายรูปเมื่อไหร่ก็ได้ ได้ทุกที่ทุกเวลาตามที่เราต้องการ นี่คือความแตกต่างระหว่างการถ่ายภาพโดยใช้แสงธรรมชาติกับแสงเฟลช เมื่อย้อนกลับมาที่หัวข้อความแตกต่างระหว้างการถ่ายภาพในสตูดิโอกับการถ่ายภาพด้วยแสงธรรมชาติ เมื่ออยู่ในสตูดิโอ แสงที่เกิดขึ้นแน่นอนว่าส่วนใหญ่แสงที่ใช้ในการถ่ายทำจะเป็นแสงเฟลชหรือแสงจากไฟต่อเนื่องที่เราทำขึ้นมาทั้งนั้น ทำให้เราสามารถควบคุมแสงได้อย่างอิสระ ในธรรมชาติมีแหล่งกำเนิดแสงมาจากแหล่งเดียว แต่ในสตูดิโอ มีแหล่งกำเนิดแสงได้หลายทิศทาง เราสามารถใช้แสงกี่ตัวก็ได้ เพื่อให้ได้อารมณ์ของภาพตามที่เราต้องการ (โดยทั่วไปใช้ไม่เกิน 3 ตัวก็เพียงพอแล้ว) ในบางครั้งที่เราเห็น 5-6ตัว อาจมีเรื่องของการตลาด ภาพลักษณ์ของการถ่ายภาพเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะการที่ใช้ไฟมากกว่า 3ตัวขึ้นไปนั้น ไฟดวงอื่นๆที่เหลือแทบจะไม่มีบทบาทอะไรต่อภาพที่ได้เลย จริงๆแล้วภาพถ่ายที่ดีจะต้องมีการคุมโทนของเงา (Shadow), ความสว่าง (Hight light) ให้ได้อย่างเหมาะสม ดังนั้นการถ่ายภาพในสตูดิโอ จึงไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไปสำหรับมือใหม่ เพียงแต่ให้เข้าใจในเรื่องธรรมชาติของแสงก็เพียงพอ ที่เหลือเป็นเรื่องของเทคนิคในการใช้อุปกรณ์ต่างๆ ก็สามารถทำให้ภาพถ่ายในสตูดิโอนั้นออกมาสวยงามได้เช่นเดียวกัน แสงคือธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นแสงชนิดใด หากเราสามารถควบคุมแสงได้ “After process” เมื่อเสร็จงานนั้นก็ยิ่งน้อยลงเท่านั้น Plute Moungplub ส่วนเรื่องอุปกรณ์ในสตูดิโอที่ออกมาหลากหลายยี่ห้อนั้น ก็เปรียบเสมือนกล้องถ่ายรูป ที่ไม่ว่าจะยี่ห้อไหน ต่างก็สามารถถ่ายรูปได้เหมือนกัน จะต่างกันในเรื่องของเทคโนโลยี และสีสันของภาพเมื่อถ่ายออกมาในครั้งแรกเมื่อยังไม่ได้แต่งภาพเท่านั้น จึงอยากแนะนำว่า หากเป็นมือสมัครเล่น อยากลองใช้เฟลชสตูดิโอ ก็สามารถใช้เฟลชยี่ห้อทั่วไปได้ สามารถสร้างสรรค์ภาพออกมาได้ไม่แพ้มืออาชีพ จะต่างกันเพียงแค่ อุปกรณ์บางตัวที่เกี่ยวกับตัวปรับแสงขนาดใหญ่ที่ทำให้ได้ภาพที่ต่างกัน อันนี้ก็ช่วยไม่ได้ เราควรจะจัดการกับแสงและถ่ายภาพออกมาให้ดีที่สุดในอุปกรณ์ที่เรามีในตอนนี้